" พระสิงห์๑ เชียงแสน "
ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว ผิวหิ้ง (ยุคหลัง)
"พระพุทธรูปเชียงแสน”
มีต้นกำเนิดจากทางภาคเหนือ ซึ่งตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภาคเหนือของประเทศไทยนั้น เคยเป็นที่ตั้งอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลอยู่อาณาจักรหนึ่ง เรียกว่า "อาณาจักรเชียงแสน"
ประติมากรรมไทยสมัยเชียงแสน
ประติมากรรมไทยสมัยเชียงแสน เป็นประติมากรรมในดินแดนสุวรรณภูมิที่นับว่าสร้างขึ้นโดยฝีมือช่างไทยเป็นครั้งแรก เกิดขึ้นราว พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๒๑ มีปรากฏแพร่หลายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ทางภาคเหนือของไทย แหล่งสำคัญอยู่ที่เมืองเชียงแสน วัสดุที่นำมาสร้างงานประติมากรรมมีทั้งปูนปั้น และโลหะต่างๆ ที่มีค่า จนถึงทองคำบริสุทธิ์ ประติมากรรมเชียงแสน ในอดีต ราวรัชสมัยพระเจ้าอนุรุทมหาราชแผ่อำนาจเข้ามาปกครองเมืองเชียงแสน พระองค์ได้นำเอาพระพุทธศาสนาลัทธิหินยาน (เถรวาท) อย่างพุกามเข้ามาเผยแผ่ ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาลัทธิหินยานที่เข้ามาทางประเทศอินเดียฝ่ายเหนือผ่านมอญและพม่าอาจจะเป็นด้วยเหตุนี้เอง พระพุทธรูปสมัยเชียงแสนจึงได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปศิลปะอินเดียสกุลช่างปาละอีกด้วย
“ปาละ”นั้นเป็นชื่อราชวงศ์อินเดียที่เคยครองภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ได้แก่แคว้นพิหารและเบงกอล ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๗ และเป็นราชวงศ์ที่อุปถัมภ์ “ พระพุทธศาสนาลัทธิมหายานนิกายตันตระ ” มีศูนย์กลางอยู่ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา และได้สร้างพระพุทธรูปเป็นรูปเคารพ และมีพุทธลักษณะที่สำคัญ คือ พระรัศมีทำเป็นแบบดอกบัวตูมหรือลูกแก้ว ขมวดพระเกศาทำเป็นก้นหอย พระพักตร์กลมอมยิ้ม พระหนุ (คาง) เป็นปม ลำพระองค์อวบอูมสมบูรณ์ พระอุระนูน ชายสังฆาฏิเหนือพระอังสาซ้ายสั้นและปลายแตกเป็นปากตะขาบ นิยมสร้างเป็นปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร และปรากฏพระบาททั้งสองข้าง อันเป็นพระพุทธลักษณะของพระพุทธรูปที่มีความงดงามมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะพบที่เมืองเชียงแสน และในสมัยนั้นเมืองเชียงแสนก็อาจจะเป็นเมืองที่สำคัญจึงได้ตั้งชื่อพระพุทธรูปศิลปะแบบนี้ว่า “พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแบบอย่างของพระพุทธรูปรุ่นแรกๆ ของไทย
การพิจารณาพระพุทธลักษณะของ “พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน”
พระเกศ ทำเป็นพระเกศบัวตูม พระศก ทำเป็นขมวดก้นหอย และเม็ดพระศกค่อนข้างเขื่อง พระพักตร์ อวบอูมดูสมบูรณ์ และปรากฏรอยยิ้มเล็กน้อย พระเนตร เป็นแบบเนตรเนื้อ (ไม่ฝังมุก) พระหนุ เป็นรอยหยิก พระวรกาย อวบอ้วนสมบูรณ์ ชายสังฆาฏิ สั้นอยู่เหนือราวนมและแตกเป็นปากตะขาบ ซึ่งจะเรียกว่า “พระเชียงแสนสิงห์๑” ถ้ายาวเลยราวนมลงมาเรียกว่า “พระเชียงแสนสิงห์๒ ” และถ้ายาวลงมาจรดพระหัตถ์เรียกว่า “พระเชียงแสนสิงห์ ๓ ”