พระรัตนะยุคกลาง ๕ นิ้ว

คุณสมบัติสินค้า:

SKU :

Share

พระรัตนะยุคกลาง ๕นิ้ว ลงรัก ทองเดิม ฐานชำชุดเสียหายไปแล้ว แต่องค์พระยังสวยสมบูรณ์ 









ดินไทย ไม่มีฐานพระ
พระบูชายุครัตนะประติมากรรมสมัยรัตนโกสินทร์
พระบูชายุครัตนะประติมากรรมสมัยรัตนโกสินทร์ : ชั่วโมงเซียน โดย อ.ราม

 

          งานประติมากรรม หรือ ปฏิมากรรม มีความหมายถึงการหล่อ การปั้น การขึ้นรูป ซึ่งในระยะแรกจะนิยมสร้างขึ้นเป็นรูปบุคลาธิษฐาน อันหมายถึงบุคคลในอุดมคติ เช่น การหล่อ การปั้นรูปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งช่างจะจินตนาการตามคัมภีร์โบราณ และการปั้นรูปเทพ เทวีต่างๆ ที่ได้รับอิทธิพลของฮินดู และกรีก-โรมัน โดยหมายรวมสิ่งซึ่งสร้างขึ้นเป็นสัญลักษณ์เช่น ศิวลึงค์ และหลักเมืองต่างๆ ด้วย

           ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นยุคก่อร่างสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ เนื่องจากมีปัญหากับพม่า จึงนิยมอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญต่างๆ จากหัวเมืองเข้ามาไว้ยังกรุงเทพมหานครตลอดจนซ่อมแซมองค์ที่ชำรุด เช่น อัญเชิญพระศรีศากยมุนี จากวัดมหาธาตุสุโขทัย ล่องแพมาขึ้นที่ท่าพระประดิษฐานที่วัดสุทัศนเทพวราราม พระประธานที่สร้างในสมัยนี้ที่สำคัญคือ พระประธานที่พระอุโบสถและพระวิหารวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ฝีมือพระยาเทวารังสรรค์ เป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่

            ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯให้บูรณะศิลปสถานและงานศิลปะอื่นๆ โดยเฉพาะด้านประติมากรรมเป็นพิเศษ เช่น ทรงปั้นหุ่นพระยารักใหญ่รักน้อยและรูปพระลักษมณ์พระรามซึ่งเป็นหุ่นหลวงที่สวยงามมาก ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ พระพุทธประธาน ๒ องค์ คือ พระพุทธจุฬารักษ์ พระประธานพระอุโบสถวัดราชสิทธาราม และพระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม งานชิ้นที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือ ทรงร่วมสลักบานประตูพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม รูปพรรณพฤกษาซ้อน ๓ ชั้น มีภาพสัตว์ประเภทนกและกระต่ายประกอบ

           ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการสร้างหล่อพระประธานขนาดใหญ่ตามวัดที่สร้างใหม่ เช่น "พระพุทธตรีโลกเชษฐ์" พระประธานพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม และ "พระพุทธเสฏฐมุนี" พระประธานในศาลาการเปรียญวัดสุทัศนเทพวราราม "พระเสฏฐตมมุนี" พระประธานพระอุโบสถวัดราชนัดดา และ "พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา" พระประธานพระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติ

           นอกจากนี้ยังทรงสร้างพระพุทธไสยาสน์ยาว ๙๐ ศอก ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องกษัตริยาธิราชเจ้า ๒ องค์ เพื่อเป็นราชอนุสรณ์แด่พระอัยกาและพระราชบิดาของพระองค์ ซึ่งเป็นพระหล่อสัมฤทธิ์หุ้มทองคำประดับด้วยอัญมณีมีค่า พระราชทานนามว่า "พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" และ "พระพุทธเลิศหล้านภาลัย" ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม การสร้างพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางห้ามญาติ ขนาดใหญ่นี้นิยมสร้างไว้เป็นจำนวนมาก ถือเป็นพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีพระราชนิยมนำศิลปะจีนเข้ามาในงานตกแต่งอาคารและงานปฏิมากรรม

           ทั้งนี้จะสังเกตได้ว่า งานส่วนใหญ่ยังมิได้นิยมสร้างเป็นรูปบุคคล ซึ่งเริ่มอย่างเด่นชัดในยุคที่สยามปรับตัวรับอิทธิพลของตะวันตกช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา จะมีก็แต่รูปเหมือนสมเด็จพระวันรัต (แดง) และรูปหล่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ซึ่งมีอยู่ในเก๋งจีนข้างพระปรางค์วัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) นั้น พระพุฒาจารย์ (มา) ไปถ่ายมาจากเมืองเขมรอีกต่อหนึ่ง แล้วจัดการหล่อขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่กรุงเทพฯ

           เมื่อองหริรักษ์ (นักองด้วง) พระเจ้ากรุงกัมพูชาทราบว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว องหริรักษ์ระลึกถึงบุญคุณที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ช่วยเหลือปราบปรามหมู่ปัจจามิตรทั้งช่วยจัดราชการเมืองเขมรให้ราบคาบเรียบร้อย จึงสั่งสร้างเก๋งขึ้นที่หน้าค่ายใหญ่ ใกล้วัดโพธารามในเมืองอุดรมีชัย (เมืองหลวงเก่าเมืองเขมร) แล้วให้พระภิกษุชาวเขมรช่างปั้นฝีมือเยี่ยมในยุคนั้น ปั้นรูปเจ้าพระยาบดินทรเดชาไว้เป็นอนุสาวรีย์ด้วยปูนเพชร และประกอบการกุศล มีสดับปกรณ์ ปีละครั้งที่เก๋ง เป็นต้น ชาวเขมรเรียกว่า "รูปองค์บดินทร" ตลอดมาจนบัดนี้ รูปนี้สร้างขึ้นในราวปีจอ พ.ศ.๒๓๙๒  และไทยได้ไปถ่ายแบบมาไว้ภายหลัง

           พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริปั้นรูปเหมือนแบบตะวันตกขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โปรดเกล้าฯ ให้หลวงเทพรจนา (พลับ) ซึ่งต่อมาเป็นพระยาจินดารังสรรค์ ปั้นถวาย โดยปั้นจากพระองค์จริงและเลียนแบบรูปปั้นของพระองค์ที่ฝรั่งปั้นจากรูปพระฉายที่ส่งมาถวายแต่ไม่เหมือน เมื่อทอดพระเนตรเห็นพระรูปที่หลวงเทพรจนาปั้นขึ้นใหม่ก็โปรด ต่อมานำพระรูปองค์นี้ประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทในพระนครคีรี ที่เพชรบุรี ปัจจุบันมีการหล่อไว้หลายองค์ประดิษฐานที่พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ และหอพระจอม วัดราชประดิษฐ์ กรุงเทพฯ

           จากพระรูปองค์นี้นับเป็นการเปลี่ยนศักราชประติมากรรมไทยที่เดิมปั้นรูปราชานุสรณ์โดยใช้การสร้างพระพุทธรูปหรือเทวรูปแทนมาสู่การปั้นรูปราชานุสรณ์เหมือนรูปคนจริงขึ้น

           และจากจุดนี้เองส่งผลให้มีการปรับตัวทางประติมากรรมไปสู่ประติมากรรมสมัยใหม่ การปั้นหล่อพระพุทธรูปในยุคนี้ไม่ใหญ่โตเท่าสมัยรัชกาลที่ ๓ มีพุทธลักษณะที่เป็นแบบฉบับของตนเอง มีลักษณะโดยส่วนรวมใกล้ความเป็นมนุษย์ มีการปั้นจีวรเป็นริ้ว บนพระเศียรไม่มีต่อมพระเมาลี พระพุทธรูปที่สำคัญเหล่านี้คือ พระสัมพุทธพรรณี พระนิรันตราย และพระพุทธสิหังคปฏิมา

           พระประธานในพระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์ ในรัชสมัยนี้ มีการสร้างพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติเช่นกัน แต่จีวรพระสมัยนี้เป็นริ้วใกล้เคียงธรรมชาติมากขึ้น

           ประติมากรรมที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือ "พระสยามเทวาธิราช" เป็นเทวรูปขนาดเล็กหล่อด้วยทองคำทั้งองค์ สูง ๘ นิ้วฟุต ลักษณะงดงามมาก เป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ

            ส่วนความนิยมสร้างรูปบุคคล โดยเฉพาะพระภิกษุผู้เป็นที่เคารพนับถือจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะรูปเหมือน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นพระเกจิเถราจารย์ผู้ทรงคุณทางด้านวิชาคาถาอาคม เมตตามหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคล "พระสมเด็จ" ของท่าน ที่ถูกจัดเข้าในเบญจภาคี หรือสุดยอดของพระเครื่องวัตถุมงคล ๑ ใน ๕ ของประเทศไทย และมีราคาซื้อขายในปัจจุบันต่อองค์เป็นราคานับล้านบาท ด้วยปฏิปทาจริยาวัตรและคุณวิเศษอัศจรรย์ของท่าน ทำให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยเคารพนับถือว่าท่านเป็นอมตะเถราจารย์รูปหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งได้รับการสร้างสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

           สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาพระบูชายุครัตนะนั้น ในหนังสือพระพุทธรูปปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง ถือว่าเป็นหนังสืออันทรงคุณค่าสำหรับการศึกษา โดยภาพที่นำมาลงบางภาพเป็นภาพจากหนังสือดังกล่าว ต้องขอขอบคุณคณะผู้จัดทำไว้ ณ ที่นี้ด้วย 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก นสพ.คมชัดลึก ฉบับที่ 15 สิงหาคม 2554 


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้