ตำนานหลวงพ่อปิยปกาศิต
พระพุทธปกาศิต หรือ หลวงพ่อปกาศิต องค์ต้นแบบ มีขนาดหน้าตัก๑๒ นิ้ว สำเร็จด้วยเนื้อสัมฤทธิ์ขาว โดยกษัตริย์พระองค์หนึ่งในยุคสมัย เชียงแสน ราวปีพุทธศักราช ๑๗๐๐ เพื่อเทิดพระเกียรติ ในคราวงานเฉลิม พระชนมพรรษาครบ ๔ รอบ ในพระเศียรจอมกระหม่อมเกศบัวตูมขององค์ หลวงพ่อปกาศิตองค์ต้นแบบนี้ ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้จำนวนหนึ่ง และมีเหล่าเทพเทวาชั้นสูง ผู้มีมหิทธานุภาพรักษาอยู่ถึง ๙ พระองค์
จากตำนานกล่าวว่า “ หลวงพ่อปิยปกาศิตองค์ต้นแบบนี้ มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มาแต่สมัยที่ท่านยังผนวชเป็นพระภิกษุคู่กับนายทองด้วง (สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหรือรัชกาลที่ ๑ ) ที่หัวเมืองพิษณุโลก เมื่อลาสิกขาแล้ว พระองค์ได้นำเอาพระพุทธรูป คือ หลวพ่อปกาศิต มาด้วย ภายหลังได้เข้ารับราชการไปรบทัพจับศึกที่ไหน ก็จะนำ พระพุทธรูปองค์นี้ไปด้วย ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บุญบารมีประจำ พระองค์ และมักได้ชัยชนะกลับมาทุกครั้ง จึงมีนามอีกอย่างหนึ่งว่า พระไชยหลังช้าง หรือพระนำชัย การยกทัพไปเมืองจันทบูรคราวนั้น หลวงพ่อปิยปกาศิตก็ได้มากับกองทัพของพระยาตากด้วย "
ใน จดหมายเหตุกรุงศรี หลวงพ่อปิยปกาศิต ได้บันทึกไว้ว่า “ นับกาลเวลาจากสมัยกรุงธนบุรี ปี พ.ศ.๒๓๑๐ ผ่านมาถึง
รัตนโกสินทร์ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้มีคณะบุคคลซึ่งเป็นชาวธนบุรี ๑๖ คน ผู้สืบสายวงศ์ตระกูลและมีความเคารพศรัทธาเทิดทูนในองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทำการสืบค้นหาสถานที่แห่งหนึ่งในภาคตะวันออก อันเป็นชัยมงคลวิเศษมีต้นโพธิ์รุกขชาติปลูกเรียงกันปรากฎอยู่ ๓ ต้น เป็นไปตามคตินิมิตของเทพยดาที่อยู่เฝ้าปกปักรักษา พระปกาศิตพุทธนำชัย ณ สถานที่อันมีตำนานเรื่องราวการเดินทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในเทพนิมิตนั้นได้ทำนายความเป็นโวหารอัศจรรย์ล้ำลึกไว้ว่า“…ให้ประกอบพิธีจัดสร้างพระพุทธรูป พระชัยหลังช้างอันเป็นพระคู่บารมีของพระยาตากนี้ไว้ ณ สถานที่มีโพธิ์สามต้นปลูกไว้ เป็นปฐมเหตุแห่งพระประธานประจำเบื้องบูรพาทิศสืบไปในกาลภายหน้า เทพยดาผู้มีหน้าที่ปกปักรักษาพระพุทธรูปอันสูงยิ่งด้วยกำลังเทพฤทธิ์และทรงความศักดิ์สิทธิ์ไว้พร้อมนี้แล้ว ก็จักดลบันดาลอาราธนาองค์พระชัยฯ ให้เคลื่อนคลามาประดิษฐานไว้อยู่ร่วมกัน ณ มณฑลภาคตะวันออกแห่งนี้ปรากฎนามสืบไปชั่วอายุไขยแห่งพระพุทธศาสนาจำเริญครบถ้วน ๕,๐๐๐ ปี เป็นกำลังพระบารมีปกป้องแผ่นดินเบื้องบูรพาทิศนื้สืบไปชั่วกาลนาน ” และข้อความอีกตอนหนึ่งในจดหมายเหตุกรุงศรี ได้กล่าวไว้ดังนี้ ” พระประธาน พระพุทธปกาศิต ณ วัดกองดิน มีประวัติบันทึกไว้ว่า ได้เริ่มสร้างในปี ๒๕๑๑ แต่มีเหตุอุปสรรคขัดขวางมาก พราหมณ์ผู้สัมผัสในพระบารมี จึงได้ประกอบพิธีสักการะพร้อมเครื่องบวงสรวงบายศรีทูลแจ้งฯ ผ่านองค์เทพยดาผู้ทรงกำลังฤทธิ์ ได้ปกาศิตบอกเคล็ดวิธีในการสร้างองค์พระฯ ให้สำเร็จว่า ต้องเสริมชัยมงคลแห่งพระนามอันเอกอุเลื่องลือนามในแผ่นดินสยามรัตนโกสินทร์ ให้อัญเชิญเสริมพระนาม “ ปิย ” ขึ้นมา จึงจักประกอบพิธีฯสร้างพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ในพระนามรู้จักกันมาแต่กาลบัดนั้นว่า “ หลวงพ่อ ปิยปกาศิต ” สำเร็จในปี ๒๕๑๓ เป็นพระพุทธรูปพระประธานประจำอุโบสถสถานณ วัดกองดิน ประกอบพิธีสร้างแบบที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า พิธีหล่อแบบโบราณนับเป็นองค์แรก
และเป็นครั้งแรกของวัดวาอารามในสังฆมณฑลภาคตะวันออก และในปี ๒๕๔๖ ได้ประกอบพิธีบรรจุพระพุทธปกาศิต องค์ต้นแบบไว้ ณ ภายในองค์พระประธานหลวงพ่อปิยปกาศิต พร้อมทั้งได้บรรจุพระผงสมเด็จองค์ปฐม จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ตามนิมิตของพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) ไว้ด้วยโดยพระผงฯ ทุกองค์ล้วนมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ ปัจจุบันพระธาตุในนามสมเด็จองค์ปฐมนี้มีเสด็จมาเพิ่มมากกว่า ๑ แสนองค์แล้ว
หลวงพ่อปิยปกาศิต มีพระนามเต็มว่า "พระพุทธภัทรปิยปกาศิต" เพื่อน้อมรำลึกในทางพุทธานุสติ อันเป็นเหตุแห่งการบำเพ็ญบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมา-
สัมพุทธเจ้าในภัทรกัปป์นี้ ทั้ง ๕ พระองค์ (นะโมพุทธายะ) และประกอบด้วยเหตุแห่งพุทธปาฏิหาริย์อันเป็นสิริมงคลยิ่ง จึงได้อัญเชิญพระนาม “ภัทร” นี้เข้ามาเสริมเป็นมงคลชัย อีกทั้งเนื่องด้วยการประกอบพิธีสร้างพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในช่วงรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ องค์ปัจจุบัน อันพระองค์ได้รับพระราชสมัญญานามอันยิ่งว่า “พระภัทรมหาราช” ถือเป็นเหตุอัศจรรย์ จึงได้อัญเชิญมาเพื่อน้อมความเป็นสิริมงคลโดยทุกประการเสมอเหมือนด้วยพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ มีกำลังพระบารมีที่จักช่วยแผ่คุ้มครองป้องกันไปทั่วทุกแผ่นดิน นับแต่ปฐมเหตุแผ่นดินโยนก เชียงแสน สมัยพระเจ้าพรหมมหาราช ยุคกรุงธนบุรี ในพระบารมีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและรัตนโกสินทร์ ในพระบารมีสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า และพระภัทรมหาราชเจ้า รัชกาลที่ ๙ องค์ปัจจุบัน ดังนี้ "
*** ท่านที่สนใจบูชา อยากให้มารับเอง เพราะองค์พระหนักมากครับ ***