ประวัติสำนักสงฆ์ต้นเลียบ
บ้านเกิดและสถานที่ฝังรก หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด หมู่ 1 ตำบลดีหลวง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา (ปูชนียสถาน ที่ฝังรกหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด)
สำนักสงฆ์ต้นเลียบ (บ้านเกิดและสถานที่ฝังรกหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด) ตำนานที่มีหลักฐานปรากฏอยู่จริงบนคาบสมุทรสทิงพระ
ต้นเลียบ เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ อยู่ในตระกูลเดียวกับต้นโพธิ์ วัดโดยรอบแล้วมีลำต้นประมาณ 21 เมตร เป็นต้นไม้ที่อายุยืนยาวมานานแต่อดีตกาลนับได้ 400 กว่าปี
ปัจจุบันนี้ยืนเด่นตระหง่าน แผ่กิ่งก้านสาขา ให้ร่มเงา และความร่มรื่นอยู่ภายในสำนักสงฆ์ต้นเลียบ ควบคู่ไปกับเจดีย์ที่ฝังรกของหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ซึ่งถือกันว่าเป็นต้นไม้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ในแถบภูมิภาคนี้ ไม่มีผู้ใดกล้าจะลบหลู่ เป็นต้นไม้ที่สำคัญในตำนานเกี่ยวกับหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ตามประวัติเล่ากันว่า เมื่อนายหู และนางจันทร์ ได้ให้กำเนิดลูกชาย (หลวงปู่ทวด) นายหู ก็ได้นำ มาฝังไว้ที่โคนต้นเลียบด้านทิศเหนือ ปัจจุบันนี้ก็คือ สำนักสงฆ์ต้นเลียบ ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลดีหลวง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา อยู่ห่างจากวัดพะโคะเพียงแค่ 2 กิโลเมตร
กาลก่อนบริเวณต้นเลียบแห่งนี้ ได้กลายสภาพเป็นที่รกร้าง เนื่องจากขาดผู้ดูแล มีบรรดาสรรพสัตว์น้อยใหญ่มาอาศัยเป็นที่หวาดกลัว จนบรรดาชาวบ้านไม่กล้าเข้ามาในบริเวณนี้ จวบจนท่าน อาจารย์แก้ว พุทธมุนี เจ้าอาวาสวัดดีหลวงสมัยนั้น ได้รวบรวมพระเณร และชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง เข้ามาพัฒนาต้นเลียบ จนดูสะอาดร่มรื่น ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระภิกษุ-สามเณร จนกระทั่งท่านมรณภาพ เมื่อปี พ.ศ.2497 ได้มีสัปปุรุษ 2 ท่าน เดินทางมาจากถ้ำน้ำร้อน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง คือ สัปปุรุษช่วง กับสัปปุรุษเนื่อง มาทำธุระที่วัดดีหลวง
หลังเสร็จธุระแล้วทั้งสองก็เตรียมตัวกลับถ้ำน้ำร้อน แต่กลับไม่ได้เนื่องจากในขณะนั้นท้องทะเลบังเกิดคลื่นลมแรง ไม่มีเรือลำใดกล้าจะไปส่งแม่หลง
และบิดาก็ได้นิมนต์ให้สัปปุรุษทั้งสองคน มาอยู่ประจำที่ต้นเลียบ เพราะเห็นว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่สมควรจะปล่อยไว้ให้เป็นที่รกร้างเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ สัปปุรุษทั้งสองจึงรับปากและจำพรรษาอยู่ที่ใต้ต้นเลียบ เป็นที่ยินดีของบรรดาชาวบ้านยิ่งนัก สัปปุรุษทั้งสอง ได้ช่วยกันร่วมแรงร่วมใจกับชาวบ้านก่อสร้างศาสนวัตถุ ขุดบ่อน้ำก่อด้วยอิฐดินเผาโค้ง สร้างพระประจำวัน นำมาประดิษฐานไว้รอบโคนต้นเลียบ ที่ฝังรกของหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด (ผู้ที่สร้างพระประจำวันสมัยนั้นเท่าที่สืบรู้ ก็คือ ตาขำ ศิริพร, ตาช่วงแก้ว, ลุงเคว็จ นัคราบัณฑิต, ตาพลับ พรหมอ่อน) ภายหลังสัปปุรุษเนื่องได้ขอตัวกลับไปอยู่ที่ถ้ำน้ำร้อน อำเภอเขาชัยสน ยังคงแต่สัปปุรุษช่วง ได้นำชาวบ้านสร้างเจดีย์ทรงลังกาองค์เล็ก นำมาประดิษฐานอยู่เหนือที่ฝังรกของหลวงปู่ทวด และยังได้สร้างรูปเหมือนหลวงปู่ทวด (ด้วยปูนซีเมนต์) อีก 1 องค์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงปู่ทวดใต้ต้นเลียบ ก่อนวันฉลองหลวงปู่ทวด เพียง 3 วัน สัปปุรุษช่วง ได้ขออุปสมบทที่ วัดดีหลวง โดยมีพระอธิการลั่น กาญจโณ เป็นพระอุปัชฌาย์
ครั้งถึงเดือนยี่ ได้มีการฉลองศาลา เบิกเนตรพระประจำวัน ทำพิธีพุทธาภิเษก นำวัตถุมงคลหลวงปู่ทวดเข้ากรุ
จนล่วงมาถึงปี พ.ศ.2500 หลวงปู่จำเนียร โชติธัมโม ระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดพะโคะ ขณะนั่งเจริญสมาธิภาวนา ปรากฏดวงวิญญาณขององค์หลวงปู่ทวด มาปรากฏต่อหน้าท่านและได้ชี้มาที่ตัวท่านบอกให้ไปช่วงดูแลต้นเลียบ อันเป็นสถานที่ฝังรกขององค์หลวงปู่ทวด ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีผู้ใดดูแล มีสภาพที่รกร้าง เมื่อหลวงปู่จำเนียร โชติธัมโม มาจำพรรษาที่ต้นเลียบแห่งนี้แล้ว ก็ได้รวบรวมชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง ทั้งบ้านวัดเล็ก บ้านเลียบ มาช่วยกันพัฒนาเพื่อให้เหมาะเป็นสถานที่เจริญธรรม วิปัสสนากรรมฐาน หลวงปู่จำเนียร โชติธัมโม ชาวบ้านเชื่อกันว่าท่านเป็นผู้ที่เมตตามหานิยม มีวาจาสิทธิ์ โดยท่านได้ศึกษาศาสตร์วิชาอาคมมาหลายแขนงจากสำนักเขาอ้อ จังหวัดพัทลุง สามารถนำมาช่วยเหลือรักษาผู้ที่ถูกคุณไสยได้ ท่านสามารถหยั่งรู้ด้วยญาณวิเศษถึงวันมรณภาพของตัวเอง โดยบอกกล่าวกับลูกศิษย์ใกล้ชิดว่า ก่อนวันเข้าพรรษา 7 วันท่านจะละสังขารแล้ว และเมื่อถึงวันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม 2539 เวลา 21.20 นาฬิกา ท่านก็ได้จากไปอย่างสงบ แต่ยังคงทิ้งร่องรอยการปฏิบัติและคุณงามความดีไว้ให้คนรุ่นหลังได้เจริญรอยตามและยึดเป็นเยียงอย่างรวมอายุท่านได้ 99 ปี 40 พรรษา
ปัจจุบันนี้สรีระสังขาร ของหลวงปู่จำเนียร โชติธัมโมกลายสภาพเป็นหิน บรรดาลูกศิษย์ และคณะกรรมการได้เก็บไว้ในโลงแก้ว ที่สำนักสงฆ์ต้นเลียบ หมู่ที่ 1 ตำบลดีหลวง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา มีลูกศิษย์ลูกหาที่ศรัทธาเคารพนับถือและผู้ที่ท่านเคยช่วยเหลือต่างแวะเวียนเข้ามากราบไหว้สรีระของท่านอย่างต่อเนื่อง
(ขอบคุณข้อมูล จากสำนักสงฆ์ต้นเลียบ)
ชุดกรรมการ ราคา 8,900 / จัดส่งฟรี rms ครับ